Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พ่อแม่เตรียมตัวอย่างไร ในวันที่ลูก Homeschool เปลี่ยนใจกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

Posted By Plook TCAS | 19 ก.ค. 65
2,612 Views

  Favorite
 

 

       Homeschool หรือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็นรูปแบบการศึกษาตามธรรมชาติที่มีมานานในสังคมไทย โดยในอดีตพ่อแม่และครอบครัวประกอบอาชีพใด ก็มักจะถ่ายทอดวิชาความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ให้กับบุตรหลาน เพื่อสืบต่อองค์ความรู้นั้นจากรุ่นสู่รุ่น หรือหากลูกหลานมีความชอบ ความสนใจ ความถนัด ในวิชาความรู้ด้านใด พ่อแม่ก็จะนำไปฝากฝังอยู่กับอาจารย์ หรือผู้ที่มีความรู้ในด้านนั้น เช่น พระ ครูมวย ครูดนตรี เป็นต้น ความคิดที่จะให้การศึกษาเป็นภาคบังคับเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นโดยเสนาบดีกระทรวงธรรมการได้จัดทำร่างความคิดเห็นในปี พ.ศ. 2454 ให้มีการจัดการศึกษาภาคบังคับ ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 6 และในปี พ.ศ. 2464 จึงได้มีการประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษาให้เด็กอายุตั้งแต่ 7 – 14 ปี ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา มีการเก็บเงินศึกษาพลี และมีบทลงโทษผู้ปกครองที่ขัดขืนจะถูกปรับไม่เกิน 50 บาท แต่ยังมีการยอมรับสิทธิในการจัดการศึกษาให้กับบุตรหลานของครอบครัวไว้ในมาตรา 10 ว่ารัฐมนตรีอาจยกเว้นเด็กไม่ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาได้ ถ้าผู้ปกครองแจ้งว่าเด็กได้รับการศึกษาในครอบครัวแล้ว (ยุทธชัย เฉลิมชัย และคณะ, 2547, หน้า 14-15) จนถึงยุคปัจจุบัน ครอบครัวสามารถจัดการศึกษาให้กับลูกได้อย่างถูกกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตรา 12 ที่ว่า “ครอบครัวมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน” และมาตรา 13, 14, 61 “ครอบครัวที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐ ให้มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดู ให้การศึกษาบุตร ให้ได้รับเงินอุดหนุนการศึกษา ได้รับการลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ได้เข้าถึงบริการทางการศึกษาและเทคโนโลยีทางการศึกษา” (กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า 8-9, 37-38)

       ด้วยช่องทางทางกฎหมาย และความต้องการของผู้เรียนคือลูกชายและลูกสาวของตัวเอง ทำให้แม่นกตัดสินใจจัดการศึกษาให้ลูกตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งปัจจุบันผู้เรียนทั้ง 2 คน ได้ตัดสินใจกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยลูกชายได้เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และลูกสาวเข้าเรียนที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างที่ตนเองมุ่งหวัง การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย ในคณะ สาขา และมหาวิทยาลัยที่ลูกต้องการ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะต้องใช้เวลา ไม่สามารถเสกให้เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันทันที แม่นกได้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ในการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ร่วมกับการขอคำแนะนำจากคนใกล้ชิด เช่น เพื่อน บุคคลในแวดวง Homeschool และอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ในการจัดการศึกษา พบว่า สิ่งที่พ่อแม่ควรเตรียมตัวในวันที่ลูก Homeschool ตัดสินใจเลือกเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย การวิเคราะห์ความถนัดและความสนใจร่วมกับลูก การแสวงโอกาสและเครือข่ายความร่วมมือ รวมทั้งการศึกษาเงื่อนไขการรับเข้าของแต่ละสถาบันที่สนใจอย่างถี่ถ้วน

       ในการวิเคราะห์ความถนัดและความสนใจร่วมกับลูก พ่อแม่ควรใช้วิธีการสื่อสารอย่างกัลยาณมิตร พูดคุยและรับฟังกันและกันอย่างเปิดใจ จากประสบการณ์ของแม่นกที่เคยเป็นครูในระบบโรงเรียนมาเป็นเวลากว่า 15 ปี และมีโอกาสได้สัมผัสกับเด็ก Homeschool คนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน ทำให้เห็นว่า ช่วงมัธยมศึกษาเด็กมีความพร้อมและมีศักยภาพในการไตร่ตรองถึงความชอบ ความสนใจ และความถนัดของตัวเองได้ เด็กบางคนอาจรู้ช้ากว่านี้ ขณะที่บางคนรู้ได้ก่อนนี้เสียอีก แม่นกจึงฝึกให้ลูกได้ทบทวนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเราคอยให้กำลังใจ ส่งเสริมสนับสนุนในทางที่ทำได้ สิ่งนี้ช่วยให้ลูกค่อย ๆ มองเห็นศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง และมองเห็นเป้าหมายชีวิตได้ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ไม่ควรใจร้อน ถอดใจหรือท้อแท้ง่าย เพราะการทำความเข้าใจธรรมชาติของลูกในช่วงต้น เราอาจจะเห็นเพียงภาพกว้าง ๆ ลาง ๆ ไปก่อน พอให้มีลู่ทางว่าควรเตรียมความพร้อมให้สอดคล้องกับ “จริต” หรือความชอบ ความสนใจ และความถนัดของลูกในเบื้องต้นได้อย่างไร นั่นแปลว่า ทุกอย่างควรมีความยืดหยุ่น และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เมื่อพ่อแม่ได้พูดคุย และหมั่นสังเกต ทบทวนถึงความชอบ ความถนัดของลูกอย่างสม่ำเสมอ แล้วให้โอกาสเขาได้ทดลองทำในเส้นทางที่เลือกอย่างจริงจัง ลูกจึงจะค่อย ๆ เห็นเป้าหมายและวิธีการไปถึงเป้าหมายนั้นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทักษะเหล่านี้ต้องฝึกฝน แต่ละคนช้าเร็วไม่เท่ากัน แม้แต่ลูกของแม่นกที่เกิดและเติบโตในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ก็ยังมีความแตกต่างกัน  

       การเตรียมความพร้อมลำดับถัดไปที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญคือ การแสวงโอกาสและเครือข่ายความร่วมมือ จากประสบการณ์ในการ Homeschool แม่นกเห็นว่า พ่อแม่ควรเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ลูกสนใจ ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกด้วย เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงการรับรู้ข่าวสาร และการใช้ทรัพยากรที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของลูก ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะเรามีเทคโนโลยี Social Network ที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งยังเป็นช่องทางการสื่อสารที่เชื่อมต่อกันได้ในทุกที่ทุกเวลา แม่นกจึงมักได้รับข่าวสารทั้งความรู้และกิจกรรมที่มีประโยชน์จากกลุ่มต่าง ๆ อยู่เสมอ การได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก เป็นเครือข่ายกับกลุ่ม ชมรม หน่วยงาน หรือองค์กร ทั้งในด้านที่ลูกให้ความสนใจ รวมทั้งด้านอื่น ๆ ที่ลูกควรรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพของตน ทำให้ลูกมีโอกาสได้เข้าถึงกลุ่มที่สอดคล้องกับความสนใจ และเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน โดยการเรียนรู้จะถูกถ่ายทอดส่งต่อผ่านการปะทะสังสรรค์กันในกลุ่ม ผ่านทางการติดต่อสื่อสาร เช่น การพูดคุย การพบเห็น การทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน สิ่งสำคัญคือ ในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ดำเนินไป พ่อแม่จะมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) และผู้ชี้แนะ (Guide) ไม่เข้าไปก้าวก่ายกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติของลูก เราควรทำตัวเป็นนักสังเกตการณ์ที่ดี คือ เปิดใจกว้างในการรับฟังความต้องการและเหตุผลของลูก แล้วประมวลเพื่อวิเคราะห์แนวทางที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ลูกบรรลุสู่เป้าหมายของตนได้อย่างราบรื่น

       นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน เมื่อลูก Homeschool เลือกศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยคือ การศึกษาระเบียบการรับเข้าและเงื่อนไขต่าง ๆ ของแต่ละสถาบันที่ลูกสนใจ เพราะจะเข้าเรียนได้ เราต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่เขากำหนดด้วย แม้ในปัจจุบัน TCAS รอบที่ 1 จะมีวิธีการคัดเลือกแบบไม่สอบข้อเขียน พิจารณาเฉพาะการสัมภาษณ์และดูผลงานจากแฟ้มสะสมงาน แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ลูกทั้ง 2 คน ได้เข้าศึกษาต่อในรอบนี้ พบว่า ทักษะทางวิชาการและเอกสารแสดงผลการศึกษายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการได้รับการพิจารณาให้เข้าศึกษาต่อด้วย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ เช่น การกำหนดระดับผลการเรียนเฉลี่ย และผลการเรียนบางรายวิชา ว่าต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำเท่าใด เป็นต้น ดังนั้นถ้าจะเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในกลุ่มนี้ จำเป็นต้องมีการปรับตัวตามเงื่อนไขรับเข้าเป็นสำคัญด้วย ซึ่งลูก ๆ ของแม่นกทั้ง 2 คน เลือกวิธีการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่ตรงกับจริตของตนเอง โดยลูกชายเลือกใช้เว็บไซต์ Khan Academy, หลักสูตรออนไลน์ของ Acellus, Codingame และ Sololearn เพราะชอบวิธีการอธิบายที่กระชับ สั้นแต่ได้ใจความ มีโจทย์ที่ท้าทายให้ฝึกทำ และสามารถรู้ผลการเรียนได้ทันทีที่เรียนจบในแต่ละบทเรียน ซึ่งสามารถเรียนที่ไหน ในเวลาใดก็ได้ ส่วนลูกสาวใช้เว็บไซต์สอนศาสตร์ของทรูปลูกปัญญา ร่วมกับการเรียนกับแม่และครูสอนภาษาอังกฤษ เพราะชอบวิธีการสอนของครูแต่ละคน ที่มีวิธีการสอนให้เข้าใจได้ง่าย และเล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนาน

       การเตรียมตัวของพ่อแม่ในวันที่ลูก Homeschool ตัดสินใจเลือกเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ทั้งการวิเคราะห์ความถนัดและความสนใจร่วมกับลูก การแสวงโอกาสและเครือข่ายความร่วมมือ รวมทั้งการศึกษาเงื่อนไขการรับเข้าของแต่ละสถาบันที่สนใจอย่างถี่ถ้วน ดังได้กล่าวมา จะสำเร็จอย่างราบรื่นได้ เมื่อคนในครอบครัวมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน เพราะครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่รับผิดชอบ ดูแลความอยู่ดีมีสุขของคนในครอบครัว เสริมด้วยเครือญาติทั้งฝ่ายพ่อและแม่ รวมทั้งคนในชุมชนที่อยู่อาศัยด้วย นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้อ่านควรทราบด้วยคือ ปัจจุบันมีเด็ก Homeschool ที่เลือกเดินในเส้นทางอื่น ๆ แล้วประสบความสำเร็จตามวิถีของตัวเองมากมาย ในแง่นี้ การตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยจึงเป็นเพียงหนึ่งในหลายทางเลือกของผู้ที่ต้องการเลือกเท่านั้น ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรให้เป็นแนวทางที่ต้องปฏิบัติเหมือนกันโดยสมบูรณ์ เพราะเด็กแต่ละคน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กต่างมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ความรู้/ความคิดจากแม่ Homeschool ที่แม่นกนำเสนอในบทความนี้ ได้สร้างขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวของแม่นก ซึ่งอาจมีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่ต่างจากคนทั่วไป ดังนั้นจึงไม่อาจนำไปกล่าวอ้างเป็นตัวแทนของแม่ Homeschool ทั้งหมดได้

 

อาจารย์ ดร.นริสรา ญานะ
ภาควิชาหลักสูตรและการสอน
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545. องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
ยุทธชัย เฉลิมชัย และคณะ. (2547). รายงานการวิจัยสภาพการณ์และฐานข้อมูลการจัดการศึกษาโดยครอบครัวในสังคมไทย. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.
Yana, N. (2019). Living Learning: The Voice of a Homeschool Mother. Doctor of Philosophy thesis, Chiang Mai University, 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow